สารจากประธานกรรมการ
ปี 2566 การท่องเที่ยวไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่องสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม แม้เศรษฐกิจไทยจะยังคงต้องเผชิญความท้าทายในปี 2567 แต่ยังคงมีสัญญาณบวกชัดเจนจากทั้งนโยบายภาครัฐด้านการท่องเที่ยว การดึงดูดการลงทุนโดยตรงทั้งในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถไฟฟ้าในภูมิภาคล้วนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งผลดีต่อบริษัทโดยรวมจนนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตได้ถึง 3-3.5%
ในปีนี้บริษัทยังคงให้ความสำคัญต่อกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่นและพร้อมปรับตัว (Resilience) ให้สอดคล้องตามสถานการณ์ในทุกด้านอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารของบริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย (“บริษัท”) ยังคงวางกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจโลกในปีถัดไปซึ่งอาจมีการปรับตัวดีขึ้น อันจะทำให้สามารถรองรับสถานการณ์และความไม่แน่นอนต่างๆ และส่งผลให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องและยั่งยืนรวมทั้งรักษาสถานะทางการเงินที่มั่นคง
นอกจากนี้บริษัทได้เล็งเห็นความสำคัญในการวางยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนองค์กร นับแต่ปี 2560 เป็นปีแห่งการเริ่มต้นในการวางแผนงานโดยได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อการบริหารความยั่งยืนองค์กรสอดคล้องกับหลัก CG Code ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมุ่งหวังให้บริษัทจดทะเบียนไทยได้เร่งพิจารณาการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนองค์กร
ในปี 2566 คณะกรรมการบริษัทเห็นชอบแผนงานด้านความยั่งยืนองค์กรปี 2566-2567 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติตาม CG Code และตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้นำ (governing body) ในการสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืนทั้ง 3 มิติ และจักได้ทบทวนการนำหลัก CG Code มาปรับใช้ตามระดับที่เหมาะสมกับธุรกิจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และในปี 2567 ได้ตั้งเป้าหมายให้ได้รับการจัดอันดับ SET ESG rating จาก “A” เป็น “AA”
สำหรับมิติความยั่งยืนด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญในการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาโดยตลอด และเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่บริษัทได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัท 5 ดาว หรือเทียบเท่ากับ “ดีเลิศ” จากการประเมินตามโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งประเมินโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) 8 ปีซ้อน รวมถึงได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลกิตติกรรมประกาศ จากสถาบันไทยพัฒน์ เป็นปีที่ 4 ติดต่อกันอีกด้วย
แม้ว่าธุรกิจของบริษัทจะไม่ได้ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emissions) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยตรงก็ตาม อย่างไรก็ดี บริษัทตระหนักว่าความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพันธกิจที่สำคัญ คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญและตระหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยได้กำกับดูแลฝ่ายจัดการให้วางแผนงานและยกระดับความเสี่ยงเรื่องนี้เป็นความเสี่ยงด้านกฎระเบียบของบริษัท กำหนดแนวทางการจัดการและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรและการใช้พลังงานหมุนเวียนจากการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เพื่อให้รองรับแผนยุทธศาสตร์ชาติตามพันธะข้อตกลงในการประชุม COP26 ณ กรุงกลาสโกว์ ในการร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมาย Net Zero Emission ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ.2065) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
คณะกรรมการบริษัท เห็นว่าการนำกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจของบริษัทจะช่วยให้ธุรกิจสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างแท้จริง เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์จากการติดตั้ง Solar roof ในการก่อสร้างอาคารคลังสินค้าและลานสินค้า รวมถึงยังแสวงหาพันธมิตรที่จะสามารถช่วยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในต้นทุนที่ต่ำลงในอนาคต การพัฒนาระบบบัญชีและการเงินในการลดการใช้กระดาษเป็นระบบดิจิทัลทดแทน เช่น E-Invoice/Tax และ E-Receipt ตลอดจนศึกษาระบบ Virtual Machine Server ให้สามารถปฏิบัติงานบนระบบ Cloud Computing เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากอุปกรณ์ Server และจากระบบทำความเย็นที่ต้องหล่อเลี้ยงอุปกรณ์ภายในห้อง Server
สำหรับมิติความยั่งยืนด้านสังคม เมื่อพิจารณาจากลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทพบว่าความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนมีความรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหมวดธุรกิจอื่น อีกทั้งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ โดยบริษัทจัดเตรียมช่องทางการแจ้งเบาะแสเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงระบบการแจ้งเบาะแสผู้ฝ่าฝืนนโยบายสิทธิมนุษยชนหรือรายงานการกระทำที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยสะดวก
บริษัทมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับพนักงานทุกคนซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ เราตระหนักดีว่าพนักงานเป็นผู้มีส่วนได้เสียหลักในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ ดังนั้น เพื่อเป็นแรงจูงใจและสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน บริษัทจึงมีนโยบายการบริหารสวัสดิการ ค่าตอบแทน ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดภายใต้หลักความเสมอภาค
สำหรับการดูแลคนพิการนั้น แม้ว่าจำนวนพนักงานของบริษัทจะไม่เกิน 100 คน ตามเงื่อนไขการจ้างผู้พิการอัตรา 100:1 คน ตามพ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 แต่บริษัทได้ใช้บริการจากผู้ให้บริการบน Facebook ชื่อ “ช่างภาพ เนมโฟโต้” ซึ่งเป็นผู้พิการประเภท 2:หูหนวก ในการถ่ายภาพกิจกรรมภายในบริษัท ถ่ายวิดีโอและตกแต่งภาพของบริษัทนับแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
ผมเชื่อว่าเราจะสามารถก้าวผ่านปีนี้ซึ่งนับเป็นปีที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจทั่วโลกไปได้ด้วยการร่วมมือร่วมใจ ความมุ่งมั่นและความเป็นมืออาชีพของผู้บริหารและพนักงาน สุดท้ายนี้ผมในนามของคณะกรรมการบริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ขอขอบคุณพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่ให้ความเชื่อถือและให้การสนับสนุนด้วยดีเสมอมาและขอให้ท่านผู้ถือหุ้นมั่นใจได้ว่าเราจะมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่และดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสตามหลักกำกับกิจการที่ดีเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของบริษัทและเพื่อผลตอบแทนที่ยั่งยืนของผู้ถือหุ้นทุกท่านตลอดไป
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ประธานกรรมการ
“บริษัทตระหนักว่าความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพันธกิจที่สำคัญ คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญและตระหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยได้กำกับดูแลฝ่ายจัดการให้วางแผนงานและยกระดับความเสี่ยงเรื่องนี้เป็นความเสี่ยงด้านกฎระเบียบของบริษัท”